ความสำคัญของการบรรยายผลงานทัศนศิลป์

การบรรยาย มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๔๒ ว่า
“ชี้แจง หรืออธิบายเรื่องให้ฟัง หรือเล่าเรื่อง” จากความหมายนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า การบรรยาย
เป็นกระบวนการรับรู้ที่เกิดจากการมองเห็น สังเกต และบันทึกสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นในผลงาน
คุณสมบัติเด่น รวมไปถึงรายละเอียดอื่นๆ โดยค้นหาว่ามีสิ่งใดอยู่ในผลงาน แล้วอธิบายให้รับรู้
โดยยังไม่มีการวิพากษ์ วิจารณ์ หรือสรุปความเห็นใดๆ เห็นอะไรก็บอกอย่างนั้น เช่น มีรายละเอียด
ใดบ้าง มีคุณสมบัติเด่นอย่างไร เป็นต้น เป็นการทำความเข้าใจในผลงานอย่างง่ายๆ เพื่อให้รู้ว่าคืออะไร
โดยใช้ภาษาในการบรรยายง่ายๆ ประกอบกับศัพท์ทางทัศนศิลป์ การบรรยายมีความสำคัญ
เนื่องจากเป็นขั้นตอนแรกของการวิจารณ์ผลงานทัศนศิลป์ การบรรยายที่ดีจะนำผลไปสู่ขั้นวิเคราะห์
ขั้นตีความ และขั้นตัดสินประเมินค่าผลงานตามลำดับขั้นของทฤษฎีวิจารณ์ผลงานทัศนศิลป์

การเรียนรู้ในหน่วยการเรียนรู้นี้ มีเป้าหมายในการบรรยายจุดประสงค์และเนื้อหาของงาน
ทัศนศิลป์ด้านประติมากรรม โดยใช้ศัพท์ทางทัศนศิลป์ ศัพท์ทางทัศนศิลป์ส่วนใหญ่เป็นคำศัพท์
ที่ซ้ำาๆ กัน ในการใช้บรรยายผลงานทัศนศิลป์ทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นผลงานด้านจิตรกรรม ประติมากรรม
หรือภาพพิมพ์ เนื่องจากแต่ละสาขาย่อมประกอบไปด้วยการสร้างสรรค์ผลงานที่มีการใช้หลักของ
ทัศนธาตุ หลักการจัดองค์ประกอบศิลป์ที่เกี่ยวโยงถึงความสมดุล ความมีเอกภาพ และความกลมกลืน
การบรรยายผลงานทัศนศิลป์ ควรใช้ภาษาที่สื่อสารให้ผู้ฟัง หรือผู้ชมได้รับรู้ถึงจุดประสงค์ของ
การสร้างสรรค์ผลงาน และเนื้อหาของผลงานที่ได้รับการถ่ายทอดจากศิลปิน รวมถึงการบรรยายถึง
อารมณ์ทางทัศนศิลป์ที่เกิดขึ้น ผู้บรรยายควรฝึกทักษะความสามารถด้านการสื่อสาร เพื่อสื่อ
ความหมายที่สมบูรณ์ การใช้ภาษาไทยในการบรรยายบางครั้งอาจมีข้อจำกัดในส่วนที่เกี่ยวกับความคิด
รูปแบบของผลงานที่แสดงออกทางทัศนศิลป์ อีกทั้งในบางช่วงบางตอนเป็นการบรรยายถึงการจัด องค์ประกอบศิลป์ รูปแบบผลงานประติมากรรม และภาพรวมของผลงาน อันเป็นองค์ประกอบศิลป์ที่เราสามารถรับรู้ได้ จำเป็นต้องมีศัพท์เฉพาะศาสตร์ตามสาขานั้น ซึ่งหมายถึงศัพท์ทางทัศนศิลป์มาใช้ประกอบการบรรยายให้เกิดมโนภาพในการรับรู้และเกิดสุนทรียารมณ์ ต่อผู้ชมเป็นประการสำคัญ นอกเหนือจากการได้รับข้อมูลเพียงอย่างเดียว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://backcup.blogspot.com/2014/07/blog-post.html